warawannursinghome
“โรคเกี่ยวกับกระดูกที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ”
“โรคเกี่ยวกับกระดูกที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ”
“ผู้สูงอายุ” เป็นบุคคลที่เริ่มมีความเสื่อมด้านต่างๆ ของร่างกายปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการมองเห็น การได้ยิน สมอง รวมถึง “กระดูก” ด้วยเช่นกัน ซึ่งในบทความ “ศุกร์สุขภาพ” นี้จะขอกล่าวถึงโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุว่ามีโรคอะไรที่ต้องระวังบ้าง

    “ผู้สูงอายุ” เป็นบุคคลที่เริ่มมีความเสื่อมด้านต่างๆ ของร่างกายปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการมองเห็น การได้ยิน สมอง รวมถึง “กระดูก” ด้วยเช่นกัน ซึ่งในบทความ “ศุกร์สุขภาพ” นี้จะขอกล่าวถึงโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุว่ามีโรคอะไรที่ต้องระวังบ้าง

1. โรคกระดูกสันหลังเสื่อมทับเส้นประสาท (โรคกระดูกทับเส้นประสาท)

โรคกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง ทั้งจากหมอนรองกระดูก และข้อต่อต่างๆ ด้านหลังของกระดูกสันหลัง เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น จะมีการสร้างกระดูกพอกขึ้นมา เพื่อจะลดการขยับของกระดูก นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อพังผืดที่อยู่รอบๆ ให้มีความหนาขึ้น จนทำให้ไปกดเบียดทับเส้นประสาท

อาการ

อาการของโรคกระดูกทับเส้นประสาทจะเป็นไปอย่างช้าๆ คนไข้มักจะมาด้วยอาการเด่นคือ อาการปวดหลังร้าวลงขา มีปัญหาเรื่องการเดิน คือเดินได้เพียงระยะสั้นๆ ก็จะมีอาการปวดขา หรือมีอาการปวดขาเฉพาะในเวลาที่เดิน หรือยืน และเมื่อนั่งพัก อาการปวดก็จะหายไปเอง ในบางรายคนไข้มีอาการปวดหลังร่วมด้วย ซึ่งอาการปวดหลังนี้แสดงว่ามีความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง หรือมีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจากภาวะที่กระดูกสันหลังไม่มั่นคง ที่เกิดจากความเสื่อมร่วมด้วย

การรักษา

การรักษาจะเป็นการรักษาโดยการไม่ผ่าตัดเป็นหลัก แต่ทั้งนี้การรักษาต้องคำนึงถึงความต้องการของคนไข้และสุขภาพโดยรวมมาประกอบการพิจารณาในการให้การดูแลรักษา การรักษาด้วยยา ก็จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันของคนไข้ได้ หากคนไข้ยังมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดจนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ไม่สามารถนั่งรถในระยะทางไกลๆ ได้ ไม่สามารถทำงานได้ แพทย์ก็อาจจะพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการผ่าตัด ทำเพื่อปลดเปลื้องการกดทับของเส้นประสาท หรือยึดตรึงกระดูกสันหลังข้อที่หลวมหรือเคลื่อนเพื่อลดอาการปวด หวังผลให้การทำงานของเส้นประสาทดีขึ้น และทำให้การไหลเวียนเลือดในบริเวณเส้นประสาทดีขึ้น ทำให้ลดความเจ็บปวดและเพิ่มการทำงานของรากประสาทที่ถูกกดทับ อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติ ซึ่งอาจจะเหมาะกับคนไข้ที่มีปัญหาในการใช้ยาปริมาณมากๆ และมีอันตราย

การป้องกัน

โรคกระดูกทับเส้นประสาทเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นความเสื่อมที่เป็นไปตามวัย แต่อาจชะลอได้โดยการปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี

2. โรคกระดูกพรุน

“โรคกระดูกพรุน” เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็น แพทย์จะทราบว่าคนไข้กระดูกพรุนก็ต่อเมื่อเกิดอาการหักของกระดูกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม มีแนวทางคร่าวๆ ว่าผู้หญิงที่หมดประจำเดือน และอายุเกิน 65 ปี ควรเข้ารับการตรวจวัดมวลกระดูก รวมถึงคนที่มีประวัติคนในครอบครัวชัดเจน เช่น พ่อแม่มีปัญหากระดูกพรุนหรือมีกระดูกสะโพกหัก มีญาติใกล้ชิดที่มีกระดูกสะโพกหัก ก็ควรเข้ารับการตรวจวัดมวลกระดูก เพื่อดูว่ามีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ 

นอกจากนี้ การใช้ยาบางตัวเป็นระยะเวลานานๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้เช่นกัน เช่น การกินยาต้านฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งเต้านม หรือ มะเร็งต่อมลูกหมาก การกินยาสเตียรอยด์ในการรักษาโรครูมาตอยด์ หรือโรค SLE ก็ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ นอกจากนี้คนที่หมดประจำเดือนเร็ว หรือคนที่มีระยะเวลาการมีประจำเดือนสั้น กล่าวคือ ประจำเดือนมาช้าและหมดเร็ว คนที่มีร่างกายไข้ที่ผอม กลุ่มคนเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและควรตรวจวัดมวลกระดูกด้วยเช่นกัน

การรักษา

1. การปรับชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการหกล้ม ดังนี้

     1.1 จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการหกล้ม โดยการทำพื้นบ้าน และพื้นห้องน้ำไม่ให้ลื่น และใช้เครื่องช่วยเดิน

     1.2 การออกกำลังกาย เพื่อช่วยเรื่องการทรงตัวและป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น การรำไทเก๊ก การฝึกเดิน เป็นต้น

2. การใช้ยา เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก และป้องกันกระดูกหัก

การป้องกัน

1. กินอาหารที่ดี มีประโยชน์ และกินแคลเซียมเสริมในช่วงที่มีประจำเดือน

2. การออกกำลังกายที่มีแรงกระแทก เช่น การวิ่ง การเดินจ็อกกิ้งเร็วๆ อาจจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเลือกออกกำลังกายที่ชอบ และตามความสามารถของร่างกาย

4. ออกไปพบปะผู้คนบ้าง หากผู้สูงอายุไม่มีสังคม จะก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้า และการที่ไม่ได้ออกไปไหนมาไหน ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้อีกด้วย

------------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

รศ. นพ.พงศธร ฉันท์พลากร ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ขอบคุณที่มาจากเว็บไซต์ : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1654500